ReadyPlanet.com
dot dot
dot
ข้อมูลอ้างอิง
dot
bulletกฎหมายอ้างอิงใน-ทัศนะฯ/ข่าวด่วนฯ
dot
ต้องการรับข่าวสารทาง E-mail โปรดกรอก Address

dot


หลักสูตรอบรม Update การภาษีอากรและบัญชี นับชั่วโมงได้ครบถ้วนสำหรับ TA/สำนักงานบัญชีตัวแทน พ่วงด้วยในส่วนของ CPA และผู้ทำบัญชีเก็บชั่วโมงบัญชีได้ 6 อื่นๆ 7 รวม 13 ชั่วโมง (รวมจรรยาบรรณ 1 ชั่วโมง)
ให้การอบรม/สัมมนาที่เข้มข้น และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงถือว่าได้ผ่านการอบรมแล้ว แต่ปฏิบัติจริงไม่เป็น "หลักสูตรดี อบรมเข้ม เน้นปฏิบัติได้ ต้องที่ PAT. Training & Business"
ประมวลรัษฎากร ฉบับอิเลคโทรนิค โดยกรมสรรพากร....เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้องครบถ้วน
เวปไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อการอ้างอิงเกี่ยวกับการบัญชีและงบการเงิน
เวปไซต์ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เพื่อการอ้างอิงเกี่ยวกับการภาษีอากร
เวปไซต์ สภาวิชาชีพบัญชีฯ เพื่อการอ้างอิงของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี


ประเด็นเด็ดที่นายกฯสมัคร แพ้คดี คือ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีระดับศักดิ์ต่างกันในการตีความหนึ่ง และหลักฐานทางภาษีอากรจากแบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอีกประการหนึ่ง article

จนถึงเวลานี้ทุกท่านคงได้รับทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องที่มีต่อสถานะของนายกรัฐมนตรีกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนใคร่ขอนำผลและรายละเอียดแห่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาถกแถลงและพินิจพิเคราะห์เพื่อเป็นการสังเคราะห์ความรู้เพิ่มเติม ด้วยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในบางด้านบางประเด็นต่อผู้อ่านทุกๆ ท่านได้บ้าง

                ประเด็นแรกในการตีความฐานะของนายกฯสมัคร ว่าเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนหรือไม่นั้น ศาลท่านได้วินิจฉัยพอสรุปใจความได้ว่าเนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุดของประเทศ การตีความต้องยึดถือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นสำคัญกว่าการตีความตามนัยแห่งกฎหมายเฉพาะอันเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ หรือประกาศกระทรวงหมาดไทยว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานฯ ฉบับใดๆ อันเป็นการตีความหมายอย่างแคบและโดยเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านี้ มิได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแต่อย่างใด จึงไม่อาจนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงแห่งคำร้องนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องตีความตามความหมายทั่วไปซึ่งอ้างอิงได้จากคำนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 การกระทำการตามของนายกฯสมัคร ตามที่ผู้ร้องได้ร้องต่อศาลจึงเป็นไปในฐานะลูกจ้าง อันเป็นการขัดต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
                ประเด็นที่สอง หลักฐานสำคัญที่เป็นหนึ่งในการยืนยันสถานะความเป็นลูกจ้างของนายกฯสมัครในบริษัทเอกชนนั้นก็คือ แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 จากกรมสรรพากร ซึ่งได้มีการนำส่งและระบุไว้ในแบบถึงการจ่ายเงินได้เป็นค่าพิธีกรรายการเดือนละ 80,000 บาท แม้จะระบุประเภทไว้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)หรือ 40(2) ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถานะลูกจ้างตามประมวลรัษฎากรและหรือตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานก็ตาม แต่เมื่อยึดการตีความตามประเด็นแรกก็เป็นหลักฐานอันเป็นข้อยืนยันได้ว่านายกฯสมัคร ได้รับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนแห่งนี้จริง
                นอกจากนี้ศาลท่านยังได้ย้ำถึงข้อที่ได้กล่าวกันโดยทั่วไปทางกฎหมายอีกด้วยว่า “เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ” ข้อเบิกความของผู้ร้องที่แสดงให้เห็นว่าหลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯแล้ว ไม่มีการรับค่าจ้างหากแต่มีเพียงการช่วยเหลือในค่าน้ำมันรถเป็นสินน้ำใจ เป็นการรับฟังไม่ได้ สมมติฐานได้ว่าเป็นการสร้างหลักฐานรับรองอันเป็นเท็จ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามักจะเป็นที่ปฏิบัติกันโดยพบได้บ่อยๆ ที่จะตะแบงกันไปด้วยการตีความข้อกฎหมายเข้าข้างหรือเอื้อประโยชน์แก่ตน มีการทำงานแก่กันเหมือนเดิมดังที่ได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาแต่มีการแปลงสภาพผลตอบแทนจากค่าจ้างประจำ ให้เป็นค่าจ้างชั่วคราวบ้าง ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่ใช้ชื่อเรียกว่าค่าจ้างบ้าง ปรับเปลี่ยนจำนวนเงินที่จ่ายให้แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมากบ้าง (ส่วนที่เหลือจ่ายกันนอกระบบเพื่อไม่ให้ปรากฏหลักฐานการรับ-จ่ายเงิน) เปลี่ยนผู้รับเงินไม่ซ้ำหน้ากันบ้าง โปรดใช้กรณีนี้เป็นข้อเตือนใจกันสำหรับผู้ที่กระทำการใดเป็นการอำพราง เมื่อใดมีข้อพิพาทเกิดขึ้นหากท่านพิสูจน์ไม่ได้ตามนั้น ผลแห่งกรรมนี้ก็จะกลับมาย้อนเล่นงานท่านแน่

                สิ่งที่ผู้เขียนใคร่จะนำมาพินิจพิเคราะห์เพื่อให้ได้สาระใหม่เกิดขึ้นแก่ผู้อ่านก็คือ ประเด็นหลักฐานแห่งคำร้องจากกรมสรรพากรหรือแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ปัญหาในทางปฏิบัติที่พบกันอยู่ทั่วไปในภาคธุรกิจผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินก็คือว่า ผู้รับเงินซึ่งอยู่ในข่ายต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไม่ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้ฯหักภาษีไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลส่วนตัวประการใด เช่น ขี้เกียจไม่อยากยุ่งยากขอคืนหรือใช้เป็นเครดิตภาษีเมื่อยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือเจตนาไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรใดๆ ก็ตาม เป็นต้น ตามปกติผู้จ่ายเงินได้ฯในฐานะผู้ซื้อสินค้าหรือบริการย่อมอยู่ในฐานะที่มีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ไม่ให้หักฉันก็ไม่ซื้อจากเธอ ไปซื้อจากเจ้าอื่นก็ได้ เช่นนี้ปัญหานี้ก็เป็นอันตกไป เพราะผู้จ่ายเงินได้ฯเสียงแข็งยืนยันจะหักให้ได้ สุดท้ายผู้รับเงินได้ฯก็ต้องยอม แต่มีหลายกรณีในโลกธุรกิจที่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าผู้จ่ายเงินได้ฯหรือผู้ซื้อ เช่น สินค้าหรือวัตถุดิบจำเป็นหาจากผู้ขายรายอื่นได้ยาก หรือผู้ขายหรือผู้ให้บริการผลิตสินค้าหรือให้บริการที่มีคุณภาพเหนือกว่าผู้ขายหรือผู้ให้บริการรายอื่นๆ หรือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขอร้องให้ผู้ขายหรือผู้ให้บริการจัดทำให้เป็นพิเศษ เช่นนี้ย่อมต้องยอมง้อและอ่อนข้อให้แก่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการรายนั้นเป็นกรณีพิเศษ แต่ภาระตามประมวลรัษฎากรไม่มีกรณีพิเศษจะยกเว้นโทษให้หากผู้จ่ายเงินได้ฯไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้เมื่อเข้าข่ายตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรบังคับให้หักไว้ บรรดาท่านๆ ผู้ขายหรือผู้ให้บริการทั้งหลายท่านทราบหรือไม่ว่า เมื่อท่านต่อรองหรือบังคับกลายๆ ให้ลูกค้าของท่านไม่ต้องหักภาษีท่านไว้เมื่อท่านรับค่าสินค้าหรือค่าบริการแล้ว ลูกค้าของท่านแก้ปัญหาในการที่ไม่ได้หักภาษีท่านไว้อย่างไร? หรือท่านคิดว่า “ช่างมัน...ไม่ใช่ปัญหาของฉันแล้ว เพราะฉันได้เงินเต็ม 100%” แนวทางที่นิยมปฏิบัติกันแทบจะโดยทั่วไปของผู้จ่ายเงินได้ฯ ที่ต้องอดทนกล้ำกลืนกับความจำเป็นทางธุรกิจแต่หมิ่นเหม่ต่อการปฏิบัติตนผิดกฎหมายก็คือ แสดงรายการออกภาษีแทนท่านระบุแสดงไว้ในระบบบ้าง นอกระบบบ้าง (แล้วแต่นโยบายของแต่ละแห่ง) แล้วนำส่งต่อสรรพากรและในแบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 แล้วแต่กรณี ก็ได้ระบุชื่อและที่อยู่ของท่านเฉกเช่นการที่ท่านยอมให้หักภาษีตามปกติ เพื่อเป็นการมิให้กิจการของเขาต้องโทษตามประมวลรัษฎากรในประเด็นความผิดที่ไม่ได้หักภาษีท่านไว้เมื่อมีการจ่ายเงินได้ฯ ยกตัวอย่าง มีกรณีพิพาทซึ่งบุคคลหนึ่งถูกเจ้าพนักงานประเมินฯ แจ้งประเมินภาษีเนื่องจากยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภ.ง.ด.90 ไว้ไม่ถูกต้องโดยแสดงเงินได้พึงประเมินไว้ไม่ครบถ้วน อ้างอิงจากฐานข้อมูลที่กรมสรรพากรได้ประมวลจากรายงานการยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ของผู้จ่ายเงินได้ฯ โดยขาดการรวมเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่านับแต่เริ่มต้นร่วมงานกันมาเลยนะท่านผู้นั้นได้แจ้งไปยังบริษัทเอกชนแห่งนั้นแล้วว่าตกลงรับเงินเต็มนะไม่ต้องหักภาษีนะ ทางบริษัทก็ตอบครับได้ครับ และเงินที่จ่ายกันท่านผู้นั้นก็ได้รับเต็มมาตลอด ก็เข้าใจว่าไม่น่าจะมีข้อมูลใดปรากฏต่อกรมสรรพากร แต่เหตุไฉนยังมีหลักฐานการจ่ายเงินและนำส่งภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.3 จากกรมสรรพากรมาสู่การประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มได้ นี่หล่ะครับการป้องกันตัวเองของผู้จ่ายเงินได้ฯ ออกให้แทนแล้วนำส่งโดยผู้รับเงินได้ฯไม่รู้ตัวไง!!! ดังนั้นได้โปรดเถอะครับ ท่านผู้มีเงินได้ฯอยู่ในข่ายต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายทุกท่าน ปฏิบัติให้ถูกต้องเถอะครับ ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้ฯเขาหักท่านไว้เถอะครับ ท่านจะได้รับหนังสือรับรองภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้มาอย่างถูกต้องและครบถ้วน แล้วจึงนำไปใช้สิทธิเป็นเครดิตภาษีเพื่อหักกับภาษีเงินได้ประจำปีของท่าน หรือหากมีเหลือก็ดำเนินการขอคืนได้ เดี๋ยวนี้สรรพากรท่านก็คืนให้เร็วมากทันใจดี(สำหรับบุคคลธรรมดานะครับ) แต่ถ้าหากท่านมีสภาพเป็นนิติบุคคลขี้เกียจวุ่นวายกับการตรวจของสรรพากรก่อนการคืนเงินภาษี ก็จะอนุโมทนาด้วยหากจะสละสิทธิ์ไม่ขอคืนแล้วยกให้รัฐไปซะ ง่ายดี แต่ถ้าจำนวนเงินมากก็น่าเสียดายอยู่นะ ขอคืนแล้วรอการตรวจไปเถอะ ผลการตรวจและความวุ่นวายยุ่งยากที่จะตามมาก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่ท่านก่อเองหล่ะครับ ทำบัญชีทำภาษีไว้ดียุ่งยากวุ่นวายน้อยหน่อย ถ้าทำกรรมไม่ดีไว้ก็ยุ่งยากวุ่นวายมากหน่อย เผลอๆ แทนที่จะได้เงินภาษีคืนกลับต้องจ่ายค่าปรับฐานตรวจพบประเด็นความผิดทางภาษี กฎแห่งกรรมครับ!!!




บทความและข่าวสารภาษี

น้ำท่วม...น้ำท่วม...น้ำท่วม....มหาอุทกภัย (กับภาระทางภาษีอากร) article
ภาระภาษีของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์/รับเหมาก่อสร้าง article
ฟ้าผ่า!!! เมื่อโดนภาษีเงินรางวัล/ชิงโชค-ย้อนหลัง article
ไม่แน่ใจว่าจะยื่น ภพ.36 กรณีใดบ้างค่ะ??? article
ภาษีซื้อค่าอาหารของกิจการรับจัดอบรมสัมมนา article
ภาระภาษีของการซื้อ/ดาวน์โหลดซอฟท์แวร์ทางอินเตอร์เน็ท article
นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรทางออกหนึ่งที่น่าสนใจในการบริหารส่วนกลาง article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.